รายละเอียดทุนโมร็อกโก

รายละเอียดทุนโมร็อกโก

รัฐบาลโมร็อกโก โดยสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศโมร็อกโก (Moroccan Agency of International Cooperation) ได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาไทยประจำทุกปี จำนวน 15 ทุน เพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา เทคนิคและวิชาชีพของรัฐในโมร็อกโก โดยมีรายละเอียดดังนี้

เงื่อนไขการรับทุน
  1. ผู้สมัครขอรับทุนสามารถเลือกเรียนได้ไม่จำกัดสาขาวิชา
  2. ผู้สมัครขอรับทุนที่ประสงค์จะศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ ต้องมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสในระดับดี เนื่องจากการเรียนการสอนใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ภาษาฝรั่งเศส จะต้องเข้าเรียนหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่ศูนย์ภาษานานาชาติในกรุงราบัต
  3. ผู้สมัครขอรับทุนที่ประสงค์จะศึกษาในสาขาศาสนาและอักษรศาสตร์ ต้องมีความรู้ภาษาอาหรับระดับดี เนื่องจากการเรียนการสอนจะใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาหลัก
  4. ผู้ได้รับทุนจะได้รับทุนการศึกษาเป็นจำนวนเงิน 750 ดีร์ฮาม (ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,700 บาท) ต่อเดือน ทั้งนี้ หากผู้รับทุนสอบไม่ผ่านในปีการศึกษาใด จะถูกระงับทุนจนกว่าจะสอบผ่านในปีการศึกษาถัดไป
    คุณสมบัติของผู้ขอรับทุน
    • ระดับปริญญาตรี 
    1. ผู้สมัครขอรับทุนต้องได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายในปีที่กำหนด และมีผลการเรียนในระดับดีมาก ดี หรือพอใช้ 
    2. ผู้สมัครขอรับทุนจะต้องมีอายุระหว่าง 19-23 ปี ในปีที่สมัคร 
    3. คุณสมบัติอื่นๆ ของผู้สมัครขอรับทุนจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสาขาวิชาในแต่ละสถาบัน/มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.amci.net.ma
    • ระดับปริญญาโท 
              ผู้สมัครขอรับทุนจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมในสาขาที่กำหนด
    • ระดับปริญญาเอก
    1. ผู้สมัครขอรับทุนจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาที่กำหนด
    2. ผู้สมัครขอรับทุนจะต้องระบุสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่สนใจ โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.enssup.gov.ma
    เอกสารการสมัคร ประกอบด้วย
    1. ใบสมัคร ผู้สนใจสามารถดาวโหลดใบสมัครและสั่งพิมพ์ได้จากเว็บไซต์ www.amci.net.ma
    2. สำเนาใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 ฉบับ
    3. สำเนาใบแสดงผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 ฉบับ
    4. รูปถ่ายสีขนาดพาสปอร์ต จำนวน 2 รูป โดยเขียนชื่อจริงและนามสกุลพร้อมทั้งระบุสัญชาติ เป็นภาษาอังกฤษไว้ด้านหลัง
    5. สำเนาสูติบัตร จำนวน 2 ฉบับ 
    6. สำเนาหนังสือเดินทาง จำนวน 2 ฉบับ
    7. ใบรับรองความประพฤติ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    8. กรณีเป็นโรงเรียนเอกชนให้แนบใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการ 
    9. ใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งรับรองว่า มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคระบาด 
    10. สำหรับผู้สมัครในระดับปริญญาโทและเอก ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม คือสำเนาปริญญาบัตรและ/หรือใบแสดงผลการเรียนระดับปริญญาตรี และ/หรือปริญญาโท และสำเนาปริญญานิพนธ์/วิทยานิพนธ์
    ทั้งนี้ เอกสารประกอบการสมัครต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ (ลงนามรับรองสำเนาทุกฉบับ) กรณีผู้สมัครยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนจะไม่ได้รับการพิจารณา

    ระยะเวลาการเปิดรับสมัคร
    1. ผู้ประสงค์ที่จะศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ต้องสอบเข้า (ประเภท A) ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์  คณะทันตแพทยศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยบริหารธุรกิจ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิทยาลัยศิลปะและอาชีวศึกษา ต้องยื่นเอกสารภายในวันเวลาที่กำหนด
    2. ผู้ประสงค์ที่จะศึกษาในสถาบันการศึกษาแบบเปิดรับสมัคร (ประเภท B) ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ตลอดจนคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย Al Quaraouyine (เมืองเฟส) ต้องยื่นเอกสารภายในวันเวลาที่กำหนด
    3. ผู้ประสงค์จะเข้าเรียนในหลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาฝรั่งเศส (ประเภท C) ต้องยื่นเอกสารภายในวันเวลาที่กำหนด
    กำหนดเปิดภาคการศึกษาแรก
    1. สถาบันการศึกษาที่ต้องสอบเข้า (ประเภท A) เปิดภาคการศึกษาประมาณสัปดาห์แรก ในเดือนกันยายน ของทุกปี
    2. สถาบันการศึกษาแบบเปิดรับสมัคร (ประเภท B) เปิดภาคการศึกษาประมาณกลางเดือนกันยายน ของทุกปี
    3. หลักสูตรปรับพื้นฐานภาษาฝรั่งเศส (ประเภท C) เปิดการสอนประมาณเดือนมกราคม ของทุกปี
    การเตรียมการของผู้ที่ได้รับทุน
    1. ขอรับการตรวจลงตรา ประเภทนักเรียนจากสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย
    2. หากผู้ได้รับทุนไม่ไปรายงานตัวที่สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศโมร็อกโกภายในกำหนด จะถือว่าบุคคลดังกล่าวสละสิทธิ์
    3. เมื่อผู้ได้รับทุนเดินทางถึงราชอาณาจักรโมร็อกโกแล้ว จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเอกสาร จำนวน 900 ดีร์ฮาม (หรือประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ)
    ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาวิชาที่เปิดสอน เงื่อนไข การรับสมัครเข้าศึกษาในแต่ละสาขาวิชา ระยะเวลาศึกษา และข้อมูลอื่นๆ ได้ทางเว็บไซต์ www.amci.ma หรือ www.enssup.gov.ma และ www.men.gov.ma ต้องกรอกแบบฟอร์มด้วยลายมือ และส่งเอกสารหลักฐานไปยังสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก ดุสิต กรุงเทพฯ 10300 ภายในวันเวลาที่กำหนด หรือ สอบถามรายละเอียดได้นางผาณิต ทิพย์สุวรรณ หมายเลข 0 2628 5646 ต่อ 118

    **รายละเอียดการสมัครอาจมีการเปลี่ยนแปลงในทุกปีการศึกษา หากมีการเปลี่ยนแปลง ทางสมาคมฯจะอัพเดทข้อมูลและแจ้งให้ทราบในภายหลัง**

    Source : http://www.bic.moe.go.th/

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    ระบบการศึกษา

    อิมลี้ล (Imlil)